Extended Release

ความหมายและคุณค่า ... ผ่านงานศิลป์ ของปรัชญา พิณทอง

เมื่อพื้นที่หนึ่ง ๆ มีเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่ผ่านมากับสิ่งที่เรียกว่า “เวลา” มีการใช้งานของผู้คนมาหลายยุคหลายสมัย ทุกครั้งที่มีการบูรณะหรือปรับปรุงพื้นที่แห่งใดก็ตาม เราย่อมได้เรียนรู้อะไรบางอย่างจากร่องรอยของอดีต

นิทรรศการ Extended release ของศิลปิน ปรัชญา พิณทอง เสมือนพาเราไปค้นหาเรื่องราวในอดีต ร่องรอยประวัติศาสตร์ที่มีนัยยะบางอย่างแอบแฝงอยู่ในพื้นที่หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ที่มีการปิดปรับปรุงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 (ลงทะเบียนขอเข้าชม On-site ได้แล้ววันนี้)

เมื่อทุกอย่างกลับมาสมบูรณ์และมีชีวิตอีกครั้ง นิทรรศการนี้ก็รอผู้ชมมาค้นหาความหมายอย่างมีเสรีภาพ เพราะในความสมบูรณ์ สวยงามและมีคุณค่านั้น ล้วนเต็มไปด้วยเรื่องราวที่ผ่านกาลเวลามายาวนาน เปรียบเสมือนฝุ่นที่เกาะของเก่ามาอย่างยาวนาน ละอองฝุ่นก็ย่อมตกมาปกคลุมสิ่งนั้น ฝุ่นบางก็เห็น ฝุ่นหนาก็มองไม่ชัดว่าฉากหลังนั้นมันคืออะไร เหมือนกับเรื่องราวของพื้นที่แห่งนี้ ศิลปินได้ถ่ายวิดีโอจากโทรศัพท์มือถือไอโฟน ขณะที่ช่างผู้เป็นแรงงานกำลังขัดพื้นอาคารอยู่ และถูกแปลงให้เป็นรูปแบบของม้วนฟิล์ม 35 mm. ภาพสั่นไหว และฉายลงบนจอขนาดใหญ่ซึ่งตรงกับบริเวณที่บันทึกวิดีโอ เรียกว่าเป็นจุดเริ่มต้นของนิทรรศการ Extended Release ที่พาเราไปปัดฝุ่นแต่ละชั้น รื้อค้นประวัติศาสตร์ของสถานที่แห่งนี้ลึกลงไป และการรื้อค้น ยิ่งค้น ก็ยิ่งเหมือนเป็นแรงกระเพื่อมต่อความคิด ต่อตัวเอง และต่อสังคม

อย่างผลงาน “Seed Bomb” ที่ได้มาจากการขัดพื้นตัวอาคารเช่นกัน แล้วนำมาห่อหุ้มเมล็ดพันธุ์พืชที่ผู้ชมนิทรรศการ สามารถนำกลับไปปลูกในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ เหมือนกับความรู้สึก ความคิด ความสงสัยในนิทรรศการนี้ อาจจะทำให้นำวิธีคิดลักษณะนี้ไปปรับใช้ในพื้นที่ต่าง ๆ นอกเหนือจากมหาวิทยาลัยศิลปากร เพราะทุกพื้นที่นั้นล้วนมีประวัติศาสตร์ที่รอเวลามาค้นหาและถอดบทเรียน

ศิลปินสร้างความรู้สึกให้เราอยากค้นหาประวัติศาสตร์ของสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ข้างหน้าต่อไปได้อย่างแยบคาย การที่มีการจัดวางแผ่นวัสดุอะลูมิเนียม คู่กับหนังสือพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง “พระพุทธเสรฏฐมุนี หรือหลวงพ่อกลักฝิ่น” นั้นมีนัยยะและมีประวัติศาสตร์ที่มีที่มา มีเรื่องราวที่ถูกซ้อนทับไว้ไม่ต่างกัน

วัสดุอะลูมิเนียมที่ถูกหลอมด้วยเปลือกห่อหุ้มระเบิดในสงครามอินโดจีน มีขนาดเท่ากับบานประตูของตัวอาคารวังท่าพระ ด้วยความที่วัสดุมีความมันวาว สามารถสะท้อนสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงได้ แต่ไม่ใช่เพียงแค่สะท้อนแสงเท่านั้น มันยังสะท้อนประวัติศาสตร์ของสิ่งนี้ สะท้อนเรื่องราวที่ซุกซ่อนในซอกหลืบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเป็นเหมือนประตูเข้าไปสู่เบื้องหลังอย่างที่ไม่สามารถหยุดตั้งคำถามได้

ไม่ต่างอะไรกับในสมัยพระพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาล 3) ที่มีการสร้างพระพุทธเสรฏฐมุนี หรือหลวงพ่อกลักฝิ่นขึ้น เนื่องจากในสมัยนั้นมีการปราบปรามฝิ่น เมื่อฝิ่นถูกทำลายไปแทบทั้งหมด สิ่งที่หลงเหลืออยู่คืออุปกรณ์การเสพ ที่เป็นวัสดุทำจากทองเหลือง อุปกรณ์เหล่านั้นถูกนำมาหลอมขึ้นใหม่เป็น “พระพุทธรูป” เปลี่ยนจากสิ่งของที่เคยถูกมองว่าไม่ดี ให้กลายมาเป็นสิ่งที่น่าเคารพบูชา

ล้นเกล้ารัชกาลที่ 3 ทรงพระราชทานนามว่า “พระพุทธเสรฏฐมุณี” แปลว่า พระผู้ประเสริฐสุด มีความหมายว่า ผู้ติดสิ่งเสพติดทั้งหลาย สามารถกลับใจเป็นคนดีได้เสมอ ย่อมสว่างรุ่งเรืองเหมือนพระพุทธรูปที่ทรงสร้าง อันจะเป็นพลังแข็งแกร่งชนะจิตใจให้เหินห่างสิ่งเสพติดได้ แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งอาจเป็นการสร้างสิ่งใหม่เพื่อถมทับเรื่องราวเก่า ๆ หรือไม่? สุดท้ายแล้วความจริงคือความจริง เราสามารถสืบหาและค้นคว้าประวัติศาสตร์ในหลายแง่มุมจากสิ่งเหล่านี้ได้เสมอ

นิทรรศการ Extended Release ของศิลปิน ปรัชญา พิณทอง ได้พาทุกคนไปขุดค้นประวัติศาสตร์ผ่านผลงานศิลปะของพื้นที่หนึ่ง ๆ ผ่านผู้คนและเวลาได้อย่างลงตัว ฝุ่นในแต่ละชั้นที่ตกลงมาปกคลุมบางอย่างได้จางลงเมื่อมีแสงมากระทบ ทำให้ผู้คนสามารถมองเห็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังได้ชัดเจนยิ่งขึ้น การปัดฝุ่น ขัดพื้น หรือการเห็นวัตถุที่มีที่มาที่ไป คือ การเปิดกว้างทางความคิด เสรีภาพในการตั้งคำถามกับสิ่งที่มากระทบกับเราได้เห็นแง่มุมที่หลากหลาย ทุกอย่างยังมีเรื่องราวที่ยังคงรอผู้คนไปค้นหาเสมอ และเชื่อว่า…นี่คือเมล็ดพันธุ์พืช เมล็ดพันธุ์แห่งความคิดที่สามารถไปเติบโตในพื้นที่แห่งใดในโลกก็ได้

เอกสารอ้างอิง

กฤษฏา ดุษฏีวนิช, ภัณฑารักษ์. นิทรรศการ Extended release ของปรัชญา พิณทอง ณ หอศิลป์ มหาวิทยาศิลปากร วังท่าพระ, 19 มีนาคม – 15 พฤษภาคม. ม.ป.ท., 2564.

พระพุทธเสรฏฐมุนี หล่อจากกลักฝิ่น และนัยจากพระพุทธรูปที่ประกอบขึ้นจากสิ่งเสพติด, เข้าถึงเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564, เข้าถึงได้จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_14583

กลับมาเปิดแบบ On-site ให้ได้ชมกันอีกครั้ง ณ หอศิลป์ (ท้องพระโรง) มหาวิทยาลัยศิลปากร ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน – 2 ตุลาคมนี้เท่านั้น ใครที่พลาดไปครั้งก่อน ครั้งนี้ต้องไม่พลาดเลยนะคะ
📍ART CENTRE, SILPAKORN UNIVERSITY
For more information: https://www.facebook.com/129922640417710/posts/4327726693970596/?d=n