ต่างที่…ต่างความรู้สึก

อาจารย์ทัศนา นาควัชระ นักดนตรีคลาสสิกผู้ออกเดินทางสร้างศิลปะผ่านเสียงเพลง

เสียงของวิโอล่าที่ดังก้องกังวานไปทั่วโถงทางเดินภายในหอสมุดวังท่าพระ สะกดให้ทุกสายตา    ต้องมองหาที่มาของท่วงทำนองอันพลิ้วไหว และเพียงไม่กี่อึดใจ เราก็ได้พบกับผู้บรรเลงบทเพลงนั้น ฝีมือของ  “อาจารย์ทัศนา นาควัชระ” อาจารย์ประจำคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้อำนวยการด้านดนตรีและหัวหน้าวง Pro Musica ยังคงโดดเด่นสมคำร่ำลือเสมอ

ความรัก ความหลงใหลในเสียงดนตรีของอาจารย์ทัศนา ก่อตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่วัยเด็กที่เติบโตมาท่ามกลางครอบครัวที่รักในเสียงดนตรี ทั้งดนตรีไทย สุนทราภรณ์ ป๊อป สากล รวมถึงดนตรีคลาสสิก อาจารย์เริ่มเล่นซอด้วงเป็นเครื่องดนตรีไทยชิ้นแรกตามมาด้วยไวโอลิน จนสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยังได้รับทุนสนับสนุนในการศึกษาต่อต่างประเทศยาวนานต่อเนื่องถึง 11 ปี อาจารย์ทัศนาเล่าว่ากว่าจะประสบความสำเร็จอย่างในทุกวันนี้ เวลาเข้าไปเรียนหรือซ้อมจะได้ยินคำว่า “ไม่…ไม่ถูก…” จากผู้ควบคุมวงและอาจารย์อยู่เสมอ เจออุปสรรคตลอดเวลา แต่ยังต่อสู้ ดิ้นรน จนพัฒนาขึ้นในทุก ๆ วัน มันเป็นสายเลือดของวิชาชีพ การมีวินัยจะผลักดันให้เรามุ่งมั่นทำทุกอย่างเพื่อสร้างผลงานที่ดีที่สุด นี่คือสิ่งที่นักดนตรีและศิลปินทุกคนตระหนักรู้ทุกลมหายใจ

ทำไมต้อง “ดนตรีคลาสสิก”

“ผมโตมาในครอบครัวที่ฟังดนตรีคลาสสิก มันเลือกไปโดยธรรมชาติ ผมไม่ได้ตั้งใจมาตั้งแต่เกิด ว่าผมจะเป็นนักดนตรี เพราะมันค่อย ๆ ซึมซับ พอเข้ามหาวิทยาลัยก็รู้ตัวแล้วว่าเราจะต้องมีอาชีพนี้แน่นอน” “ดนตรีคลาสสิกไม่จำเป็นต้องเล่นแต่เพลงฝรั่ง อย่างไวโอลินที่ผมชอบมากที่สุดก็นำมาเล่นเพลงไทย ได้ไพเราะ ครอบครัวผมฟังเพลงสุนทราภรณ์เราก็เล่นเพลงสุนทราภรณ์ ตอนนี้มันไม่ใช่เรื่องของฝรั่ง อีกต่อไปแล้ว” อาจารย์ทัศนาเปรยว่าเครื่องดนตรี ศิลปิน และผู้ฟังจะปรับตัวเข้าหากัน อยู่ร่วมกันได้ในสังคมบนพื้นฐานของความรักในดนตรี

ภาพ : www.promusicabkk.com

ศิลปะกับสถานที่ที่เปลี่ยนไป

“พวกเราที่เล่นอะคูสติก เครื่องดนตรีที่สร้างเสียงได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องไฟฟ้าช่วยขยาย เรานับว่าห้องแสดงเป็นเครื่องดนตรีของเราด้วย เสียงที่สร้างออกไปอยู่ในห้องต่าง ๆ ที่ต่าง ๆ ห้องนั้นก็กลายเป็นเครื่องดนตรีของเรา แต่ละที่ก็มีลักษณะพิเศษของมันไป ดีบ้าง ดีมาก ดีน้อย เล่นในโบสถ์ก็อีกแบบหนึ่ง เล่นในคอนเสิร์ตฮอลล์โบราณที่เป็นไม้ก็อีกแบบหนึ่ง เล่นในโมเดิร์นคอนเสิร์ตฮอลล์ที่เป็นบล็อกคอนกรีตก็อีกแบบหนึ่ง” หรือจะกล่าวก็ได้ว่า ดนตรีแบบเดียวกันแต่ต่างสถานที่ ก็จะให้อารมณ์ ความรู้สึก ภาพลักษณ์ที่แตกต่างกันไป

ปัจจุบันดนตรีคลาสสิกไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในคอนเสิร์ตฮอลล์ อาจารย์ทัศนาและกลุ่มนักดนตรี 4-5 คน เริ่มมีกิจกรรมพาเสียงดนตรีไปยังสถานที่ต่าง ๆ โดยจัดแสดงบนรถกระบะ มีทาวเวอร์เครื่องเสียง 2 เครื่อง ก็เป็นเวทีคอนเสิร์ตได้แล้ว อาจารย์มองว่าวงขนาดเล็กนั้นจัดการได้ง่าย จะเล่นที่ไหนก็ได้ สนุก และได้บรรยากาศเสียงรอบข้างเคล้าประกอบดนตรีไปด้วย

ภาพ : www.promusicabkk.com

ถ้าพูดถึงการออกเดินทางไปแสดงดนตรี แน่นอนว่าอาจารย์ทัศนาขึ้นแสดงมานับพันครั้ง ได้เล่นดนตรีในสถานที่สำคัญบนโลกนี้มาพอสมควร เช่น เวียนนา เบอร์ลิน ลอนดอน แต่ถ้าเป็นที่ที่แปลกและประทับใจที่สุดก็ต้องเป็นเทศกาลดนตรีที่จัดในถ้ำมหึมาทางใต้สุดของเสปน ใช้เวลาเดินทางจากสวิตเซอร์แลนด์ข้ามวันข้ามคืน ที่นั่นมันมีความแปลก เช่น มีน้ำหยดลงมาจากเพดานแล้วเราต้องคอยเล็ง คอยหลบ เป็นความรู้สึกประทับใจครั้งหนึ่งซึ่งไม่คิดว่าจะได้เจอที่ไหนอีก

ภาพ : www.promusicabkk.com

เปิดใจฟังเพื่อลบภาพจำ

เมื่อถามอาจารย์ถึงมุมมองที่คนส่วนใหญ่มองว่าดนตรีคลาสสิกเป็นดนตรีของคนเฉพาะกลุ่ม อาจารย์เองก็ไม่ปฏิเสธ เพราะเราเห็นแบบนั้นผ่านหนังสือ ภาพยนตร์ ที่กลุ่มคนชนชั้นสูงใส่หูกระต่าย เข้าไปอยู่ในคอนเสิร์ตฮอลล์ นั่งเงียบ บัตรราคาแพง แต่แบบที่เล่นบนรถกระบะ ใส่หมวก ใส่เสื้อยืด เหงื่อตก ไม่เสียเงินฟังก็มี แล้วยังเล่นเพลงเดียวกันได้อีก เราถูกปลูกฝังมาแบบนั้น เราอาจจะเห็นโดยที่เรา ไม่รู้จัก ถ้าวันหนึ่งเราได้รู้จักในรูปแบบที่เข้าถึงง่าย สนุกสนาน ถ้าลองมาสัมผัสก็คงจะลบภาพเหล่านั้นออกไป… ได้บ้าง

อีกหนึ่งช่องทางที่สามารถทำให้คนในปัจจุบัน “รู้จัก” เพลงอะไรก็ได้ในโลกนี้อย่าง “ออนไลน์สตรีมมิ่ง (Online Streaming) ” ทั้งยูทูบ (Youtube) สปอติฟาย (Spotify) แอปเปิลมิวสิก (Apple Music) ซึ่งแตกต่างจากยุคที่อาจารย์ทัศนาเป็นนักเรียน จะต้องไปร้านขายซีดี ดีวีดี วิดีโอเฉพาะอย่างที่อมรินทร์พลาซ่า เมื่อเวลาหมุนเวียนไป การเข้าถึงเพลงหรือสื่อต่าง ๆ ก็ทำได้ง่ายขึ้น เป็นปัจจัยทำให้คนฟังเพลงหลากหลาย มีทางเลือกที่อยากให้คนเล่นเพลงแบบนั้น ๆ มากขึ้น

เมื่อผู้ฟังสามารถเสพอรรถรสผ่านเสียงเพลงในโลกออนไลน์ได้ แต่ในฐานะของนักดนตรี อาจารย์ทัศนากลับมองว่า “การบันทึกเสียงในห้องอัดที่ไม่มีคนฟัง ความรู้สึกมันไม่เหมือนกันกับการเล่นคอนเสิร์ตให้คนฟังจริง ๆ แม้ว่าการแสดงสดมันอาจไม่ค่อยสมบูรณ์เพราะเล่นตั้งแต่ต้นจนจบ มีผิดมีพลาด แต่มันมีชีวิต การบันทึกเสียงในสตูดิโอเราต้องเล่นให้ถูก เพราะมันจะอยู่ตรงนั้นชั่วลูกชั่วหลาน ถ้าเราเล่นผิดก็ปล่อยออกไปไม่ได้ เลยต้องใช้เทคโนโลยีตัดต่อให้สมบูรณ์ที่สุด ทำให้เสียความเป็นธรรมชาติของดนตรีไป”

เมื่อ “โควิด” มาปะทะวงการ “ดนตรี”

พายุลูกใหญ่อย่างโควิด ได้ทิ้งร่องรอยความเจ็บปวดให้กับทุกอาชีพไม่ต่างจาก “วงการดนตรี” ที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน

“ผลกระทบนั้นมีหลายระดับ ตัวเองเป็นทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัยและนักดนตรีที่เป็นเหมือนกึ่งงานอดิเรก อาจกระทบในส่วนข้อจำกัดการเล่นดนตรี แต่สำหรับนักดนตรีหลาย ๆ คนที่เล่นดนตรีเป็นอาชีพ งานสอน งานแสดง นักดนตรีในผับ บาร์ ตกงานมา 2 ปี และบางส่วนอาจเลิกเล่นดนตรีไปเลยก็มี ทุกคนก็พยายามปรับตัว อย่างในช่วงล็อกดาวน์ อาจารย์เองก็มีเล่นดนตรีและพูดคุยกับผู้ฟังที่สนใจเรื่อง เครื่องดนตรีผ่านโลกออนไลน์” อาจารย์ทัศนาเล่าด้วยความหวังที่จะให้เหตุการณ์นี้ผ่านพ้นไปโดยเร็ว

ดนตรีคลาสสิกไทยในเวทีโลก

“กำลังวิ่ง” คงเป็นคำที่เปรียบเทียบวงการดนตรีคลาสสิกไทยในตอนนี้ ดนตรีที่อาจารย์ชอบมากที่สุดอย่างไวโอลินยังตามหลังยุโรป อเมริกา รวมถึงฝั่งเอเชีย ทั้งจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ประเทศเหล่านี้มีมาตรฐาน การเล่นที่สูงมาก และใกล้ ๆ บ้านเราอย่างสิงคโปร์ก็มีโรงเรียนดนตรีชั้นนำ ส่วนประเทศไทยเพิ่งจะมีคณะ ที่เปิดสอนด้านดนตรีมาไม่เกิน 60 ปีนี้เอง

อาจารย์มองว่า “วงการดนตรีคลาสสิกบ้านเรากำลังพัฒนาไปในทิศทางที่ดี หลังจากที่มีโรงเรียนดนตรีและมีเด็กสนใจเพิ่มขึ้น มีคนไปเรียนต่างประเทศกลับมา วงการดนตรีก็จะมีมาตรฐานมากขึ้น ภายในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา ดนตรีทุกประเภทในไทยมีการเรียนการสอนที่ถูกต้อง คนได้ยินได้ฟังผ่านสื่อมากขึ้น ผมเห็นว่าโดยรวมคุณภาพสูงขึ้นเรื่อย ๆ”

วงการดนตรีคลาสสิกไทยกำลังพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ แล้วเราได้รับการผลักดันพอสมควรแล้วหรือยัง

“ผมว่ายังไม่ได้รับการผลักดันเท่าที่ควร เนื่องจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม ไม่ใช่เพียงแค่ดนตรีตะวันตกแต่รวมไปถึงดนตรีไทย ถ้าย้อนไปว่าทำไมเราถึงตามเขาอยู่ ก็เพราะว่าเรายังไม่ได้รับการสนับสนุน แบบจริงจัง มีแบบแผน และวิสัยทัศน์ระยะยาวว่าจะทำอะไรเกี่ยวกับวงการดนตรีศิลปะของเรา จริง ๆ มันมีอะไรให้ทำเยอะมาก ดนตรีอีสาน ดนตรีทางใต้ ผมว่ามันมีคาแรกเตอร์ ลักษณะเฉพาะของตัวเอง ที่สามารถเอาไปทำเป็นธุรกิจให้เขาอยู่ได้จริง ๆ แต่ต้องมีคนกลาง มีผู้รู้ มีทุนมาสนับสนุน ซึ่งก็ต้องรอว่ารัฐ จะทำอะไรให้กับวงการศิลปะมากกว่านี้…”

เอกสารอ้างอิง
ทัศนา นาควัชระ. (2565). อาจารย์ประจำคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. สัมภาษณ์, 21 มกราคม.
Pro Musica. (2021). Media. Accessed January 21. Available from
https://promusicabkk.com/media
TASANA NAGAVAJARA. (2022). Biography. Accessed January 21. Available from www.tasana-nagavajara.com

ติดตามผลงาน ผศ.ดร.ทัศนา นาควัชระ เพิ่มเติมได้ที่
www.tasana-nagavajara.com
www.promusicabkk.com

Blockdit: https://www.blockdit.com/posts/6205081a0506742e9d20aea1