Craft and Folk Art

กรกต อารมย์ดี ขับเคลื่อนชุมชนด้วยงานออกแบบผ่านภูมิปัญญาท้องถิ่น

ภูมิปัญญาท้องถิ่นคือความรู้ของชาวบ้านที่ได้มาจากการสั่งสม สืบสาน และส่งต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นโดยมีการปรับ ประยุกต์ และเปลี่ยนแปลงจนอาจเกิดเป็นความรู้ใหม่ตามบริบท สอดคล้องกับสถานการณ์ทางสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม 

การประยุกต์องค์ความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นก่อให้เกิดประโยชน์กับความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชน สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าให้แก่ผลผลิตทางภูมิปัญญา และสืบทอดแก่นสารทางวัฒนธรรมนั้นให้คงอยู่ต่อไป กรกต อารมย์ดี นักออกแบบสถาปัตยกรรมผู้นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสร้างสรรค์เป็นผลงานชั้นยอด ใช้ทักษะพื้นบ้านจากวิธีการมัดและผูกว่าวจุฬาปักเป้าที่เรียนรู้จากก๋ง (คำเรียกญาติฝ่ายแม่ในภาษาจีน หมายถึง ตา) มาประยุกต์ใช้จนกลายเป็นนักออกแบบที่มีผลงานโดดเด่นมีลายเส้นเป็นภาพจำคนหนึ่งของประเทศไทย

กรกตเป็นลูกหลานชาวประมงชายฝั่งทะเล อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ในวัยเด็กใช้ชีวิตอยู่กับก๋ง บุคคลที่เป็นคนสำคัญในการถ่ายทอดวิชาความรู้เทคนิคการมัดและผูก ทำให้ได้ซึมซับภูมิปัญญาการทำว่าวจุฬาปักเป้าจนเกิดองค์ความรู้ด้านวัสดุ การคัดสรรไม้ไผ่ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ และมีโอกาสนำทางให้ชาวบ้านในชุมชนบ้านแหลมมีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เปลี่ยน “พืชหลังบ้าน” ให้กลายเป็นพืชทำเงิน สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ไปสู่ระดับนานาชาติ

กรกตสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์พื้นบ้านภายใต้แนวคิดใหม่โดยการนำพืชหลังบ้านอย่าง “ไม้ไผ่” มาประยุกต์เป็นผลงานประเภทต่าง ๆ เช่น เฟอร์นิเจอร์ ประติมากรรมนูนต่ำสำหรับตกแต่ง ไปจนถึงอาคารสถานที่ แต่ละโครงการที่กรกตได้พัฒนาขึ้นนั้นประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งในด้านความคิดสร้างสรรค์และในด้านธุรกิจที่สามารถกระจายรายได้ให้กับคนในชุมชนบ้านแหลม และสร้างชื่อเสียงให้กับตนเองไปสู่ระดับนานาชาติ

“เส้นโค้งของไม้ไผ่เป็นลายเส้นตามจินตนาการนั่นคือความงดงามที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ”

กรกตบอกว่า ชาวบ้านชุมชนบ้านแหลมเก่งและชำนาญเรื่องของการมัดและผูก เพราะอยู่ในครอบครัวที่ผูกอวนประมงมาตลอด การมัดให้แน่น มัดให้ขยับได้ในทิศทางที่ต้องการมีความเข้าใจในตัววัสดุ และเทคนิคต่าง ๆ เหล่านี้เป็นแก่นสารของงานสร้างสรรค์ การนำมาประยุกต์ใช้ตามรูปทรงว่าวจุฬาปักเป้าไปสู่การสร้างสรรค์รูปทรงตามจินตนาการต่าง ๆ เผยให้เห็นความงดงามของผลงานที่ปล่อยไปตามธรรมชาติของไม้ไผ่ กรกตได้สร้างสรรค์ผลงานตามจินตนาการให้เป็นรูปร่างที่เป็นรูปธรรมจนกลายเป็นผลงานศิลปะ

ผลิตภัณฑ์จากพืชหลังบ้านสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ชุมชน

ทุกชุมชนมีพืชหลังบ้านที่คนในชุมชนสามารถนำพืชเหล่านั้นมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อหารายได้เลี้ยงชีพ พืชหลังบ้าน เช่น ต้นไผ่ กก คลุ้ม คล้า กระจูด หญ้าลิเภา เตยปาหนัน ต้นจาก และต้นตาล ทุกอย่างที่ขึ้นและเติบโตบริเวณชุมชนสามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะแปรรูปเป็นอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัยล้วนแต่มาจากพืชหลังบ้านทั้งสิ้น

กรกตกล่าวว่า“ทุกชุมชนมีพืชอยู่หลังบ้าน และเราสามารถตัดพืชหลังบ้านมาสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อขาย การขายทำให้ทรัพยากรมีมูลค่าเพื่อให้มีค่าแรงเพิ่มมากขึ้น”

กรกตสร้างความมั่นใจให้กับชุมชนว่าจะนำผลิตภัณฑ์จากพืชหลังบ้านมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้ เพราะชาวบ้านในชุมชนมีทักษะ เทคนิค และวิชาที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น เหมือนกับวิทยาลัยชุมชนเป็นวิชาความรู้ที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ กรกตยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “นี่คือสิ่งที่ผมต้องไปสนับสนุนคนในชุมชน”

“ความเป็นช่างของเราสามารถปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์พื้นบ้านให้กลายเป็นร่วมสมัยได้”

กรกตนำวิชามัดและผูกว่าวจุฬาปักเป้าจากก๋งมาเป็นทักษะในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์พื้นบ้านให้ร่วมสมัย  นำพืชหลังบ้านมาสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อขาย เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเพื่อให้สอดรับกับชีวิตประจำวัน เพราะในปัจจุบันค่าครองชีพสูงขึ้น ทรัพยากรทางทะเลลดน้อยลง ชาวบ้านในชุมชนบ้านแหลมไม่มีงานทำและกำลังจะตกงาน กรกตช่วยชาวบ้านโดยการออกแบบผลิตภัณฑ์และนำไปขาย โดยใช้ฐานในด้านศิลปะเป็นพื้นฐานในการออกแบบ เมื่อได้รับออเดอร์1 สินค้ามาก็นำไปกระจายงานให้กับคนในชุมชนเพื่อกระจายรายได้ และฝึกให้คนในชุมชนเป็นช่าง…ไม่ใช่กรรมกร โดยกรกตนำครูช่างในชุมชน ทั้งช่างเรือประมงพื้นบ้าน ช่างถักอวน หรือช่างขัดหิน มาสอนให้วัยรุ่นในชุมชนที่ไม่มีงานทำ กลายเป็นกลุ่มที่สร้างรายได้เลี้ยงตนเองและจุนเจือครอบครัว มีความมั่นคงให้กับชีวิตมากขึ้น

“เราแค่ต้องรู้จักกับเทคนิคที่เราเป็นแล้วนำมาต่อยอดกับทักษะความเป็นพื้นบ้าน”

ผลิตภัณฑ์ในชุมชนบ้านแหลมคือเครื่องจักสาน เช่น ว่าว อวนจับปลา เปลญวน และเปลเด็ก ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้งหมดนี้ใช้วัสดุ 2 อย่างที่คล้ายคลึงกันคือ ไม้ไผ่ และ เชือก แตกต่างกันที่วิธีการทำและลักษณะของการใช้งาน วิธีการเชื่อมระหว่างไม้ไผ่กับเชือกคือการมัดและผูก ซึ่งกรกตได้คลุกคลีอยู่กับการมัดผูกว่าวจุฬาปักเป้า ผลงานที่สร้างสรรค์ออกมาจะเป็นการต่อยอดจากมัดและผูกว่าว นอกจากเทคนิคการมัดและผูกแล้ว การเข้าใจและรู้จักวัสดุเป็นอย่างดีนั้นก็สำคัญไม่แพ้กัน

ไม้ไผ่ในชุมชนบ้านแหลมคือไม้ไผ่สีสุก ทั้งนี้เทคนิคการตัดไม้ไผ่ของชาวบ้านคือการเลือกไม้ไผ่ที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีครึ่ง ไปจนถึง 3 ปี ส่วนไม้ไผ่ที่อายุน้อยกว่านั้นจะปล่อยให้โตและในอีก 2 ปีข้างหน้าจะวนกลับมาตัด เป็นการตัดไม้ไผ่แบบอนุรักษ์ หลาย ๆ ชุมชนใช้วิธีการตัดแบบนี้ ทั้งหมดเรียกว่าเป็นการตัดแบบพี่เลี้ยงน้อง ต่อมาเทคนิคการป้องกันไม้ไผ่ไม่ให้เกิดเชื้อราและมอดใช้เทคนิคเชิงช่างของชุมชน นำไม้ไผ่มาแช่กับนาเกลือ น้ำทะเล หรือน้ำคลองที่เป็นน้ำเค็ม ซึ่งเป็นการยืดการอายุการใช้งานของไม้ไผ่ และเมื่อนำภูมิปัญญาทักษะพื้นบ้านเหล่านี้มาใช้ทำให้วัสดุมีมูลค่าเพิ่มขึ้น

“ในต่างประเทศเขาเห็นคุณค่าของงานหัตถกรรม”

งานหัตถกรรมทุกชิ้นต่างมีคุณค่าต้องใช้ เวลา สมาธิ เทคนิคของการเลือกไม้ไผ่ การมัดและผูก การเหลาไม้ไผ่ และทักษะเชิงช่างต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ร่วมสมัยขึ้นได้ และสิ่งที่เป็นการยกระดับเรื่องความเป็นไทยคืองานฝีมือช่าง วัสดุ ทักษะพื้นฐานของภูมิปัญญาชุมชน กรกตกล่าวว่า “เราตีตลาดจากต่างประเทศมาก่อน ความแตกต่างก็คือในต่างประเทศเขาเห็นคุณค่าของงานหัตถกรรม”

ลูกค้าในฝั่งยุโรปสนใจงานผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์จากภูมิปัญญาพื้นบ้านให้กลายเป็นร่วมสมัย และในทางเอเชีย เช่น จีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น นิยมนำผลงานมาประดับตกแต่งเข้ากับอาคาร สร้างคุณค่าให้กับอาคารเดิม โดยรวมแล้วฐานลูกค้าต่างประเทศนั้นไม่ได้ต้องการงานสร้างสรรค์เพียงอย่างเดียว แต่ในผลงานนั้น ๆ ต้องมีเรื่องราวที่สามารถบอกเล่าได้

ก้าวเดินไปต่อกับผลงานสร้างสรรค์

กรกตได้นำ “ไม้ไผ่” พืชหลังบ้านใกล้ตัวมาสร้างสรรค์กับเทคนิคการคัดสรรไม้ไผ่ การดัด การผูกและมัดเงื่อน ประกอบกับความสามารถด้านการออกแบบมาประยุกต์เป็นงานหัตถศิลป์ร่วมสมัยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แบรนด์ KORAKOT ก่อตั้งในปี 2549 จนถึงปัจจุบัน เข้าสู่ปีที่ 16 แบรนด์มีการพัฒนาและเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลงานในช่วง 2 ปีให้หลังมาช่วงของวิกฤตการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กรกตได้พัฒนาโครงการเป็นผลงานเกี่ยวกับการประดับภายในอาคารห้างสรรพสินค้าในประเทศจีน กรกตกล่าวว่า “ผมได้เรียนรู้จากการทำงานในประเทศจีนเหมือนเป็นการเพิ่มขีดความสามารถ ทำให้ผมเริ่มสนับสนุนทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการให้เครดิตแต่ละวิชาชีพต่าง ๆ เพื่อจะทำให้น้อง ๆ ทีมสถาปนิกและทีมช่าง มีแรงในการสร้างสรรค์ผลงานที่สามารถพัฒนาขึ้นไปได้อีก”

ภาพ : https://www.thetravel2gether.com/kaomaiplamun-ampawa

ส่วนโครงการในประเทศไทยกรกตได้สร้างสรรค์ผลงานด้านสถาปัตยกรรมไว้ เช่น ครัวย่าริ้ว ร้านอาหารป่าชายเลนที่จังหวัดเพชรบุรี และร้านอาหารข้าวใหม่ปลามัน จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งการสร้างงานสถาปัตยกรรมนี้จุดสำคัญคือตั้งใจให้อาคารเป็นแลนด์มาร์ค2 สำคัญ การออกแบบอาคารตั้งใจให้เป็นสัญลักษณ์ของพื้นที่ ดึงความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนนั้นมาออกแบบ โดยใช้บริบทของสังคมละแวกนั้นมาเป็นแรงบันดาลใจของรูปทรงอาคาร ซึ่งโครงการให้หลังมานี้มีการใช้เทคนิคการมัดและผูกแบบใหม่ด้วยยางยืดยึดกับไม้ไผ่

ยางยืดนี้เป็นการที่กรกตได้เดินสำรวจพื้นที่ชุมชนจนบังเอิญเห็นนั่งร้านเก็บผลไม้ในชุมชนซึ่งใช้ยางยืดมัดและผูกในการทำนั่งร้าน เลยสนใจนำมาปรับใช้กับการสร้างอาคารได้

กรกตกล่าวว่า “การมัดด้วยยางยืดถูกจริตกับไม้ไผ่ พอถูกความร้อนมันหดตัว พอถูกฝนทำให้บวมขึ้น ไม้ไผ่ไปอยู่ในป่าชายเลนซึ่งอยู่ในโคลนมันต้องยืดหยุ่น ไม้ไผ่ถูกพัดไปในทิศทางของคลื่นมันก็ยืดหยุ่นอีก อยู่กับลมก็โยกเยก”

ไม้ไผ่ที่นำมาใช้ต้องไม่โดนเจาะ ซึ่งเวลาไม้ไผ่ถูกความชื้นจะทำให้ไม่แตก เปรียบคล้าย ๆ กับงานจักสาน ตลอดเวลาที่ผ่านมากรกตได้เรียนรู้คุณสมบัติเฉพาะต่าง ๆ และทดลองใช้วัสดุให้ถูกกับคุณสมบัติของไม้ไผ่ ปรับและเปลี่ยนไปตามสถานการณ์เพื่อให้ผลงานออกมาดีที่สุด

ภาพ : https://www.thebuffaloamphawa.com

ทั้งหมดนี้เป็นคุณสมบัติพิเศษที่ปฏิวัติพืชหลังบ้านให้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถนำมาต่อยอดสร้างรายได้ให้กับตัวเองและชุมชน งานหัตถกรรมพื้นถิ่นโดยภูมิปัญญาชาวบ้านของกรกตนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นการกระจายงานให้ชุมชนที่มีความถนัดด้านการดัด ผูกมัด ขึ้นทรง ทักษะพื้นบ้านต่าง ๆ สนับสนุนซึ่งกันและกันเพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์ผลผลิตและประสบการณ์ใหม่ ๆ กับหัตถกรรมของเมืองไทย

การสร้างผลงานออกแบบพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์จำเป็นต้องผสมผสานความรู้ด้านการออกแบบร่วมสมัยและภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ได้อย่างลงตัว ประยุกต์องค์ความรู้จากภูมิปัญญาสู่ผลผลิตร่วมสมัย และพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เพื่อต่อยอดไปในอนาคต กรกตสืบทอดและส่งต่อองค์ความรู้แก่ชุมชน สร้างศักยภาพที่จะแตกแขนงองค์ความรู้ดั้งเดิมให้พัฒนาไปอย่างยั่งยืน

หมายเหตุ

1 ออเดอร์ (order) หมายถึง รายการสั่งซื้อหรือความต้องการซื้อขาย

2 แลนด์มาร์ค (landmark) หมายถึง จุดสังเกตหรือสถานที่ที่โดดเด่น

เอกสารอ้างอิง
กรกต อารมย์ดี. (2565). นักออกแบบ ห้างหุ้นส่วนจำกัด กรกต อินเตอร์เนชั่นนอล. สัมภาษณ์, 12 มกราคม.
The Buffalo Amphawa (2021). Media. Accessed February 1. Available from
https://www.thebuffaloamphawa.com
The travel together คนเดินทาง (2021). Media. Accessed February 1. Available from
https://www.thetravel2gether.com/kaomaiplamun-ampawa

ขอขอบคุณ คุณ กรกต อารมย์ดี

ห้างหุ้นส่วนจำกัด กรกต อินเตอร์เนชั่นนอล

https://www.facebook.com/Korakotdesign

http://www.korakot.net

https://www.blockdit.com/posts/6229f125ad93e1740f74b171