สงกรานต์ปีนี้กับข้าวแช่มอญ

เรียนรู้วัฒนธรรมอาหารมอญไปกับ คมสรร จับจุ

เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ชาวมอญที่ตำบลนครชุมน์ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี จะทำข้าวแช่ในงานสงกรานต์ซึ่งปกติจัดขึ้นตั้งแต่ตี 4 ของวันที่ 13 เมษายน ชาวบ้านที่อยู่อาศัยในหมู่บ้านและพวกที่กลับมาเยี่ยมบ้านในวันสงกรานต์ จะตื่นขึ้นมาทำข้าวแช่เพื่อนำไปไหว้นางสงกรานต์ ทำบุญที่วัด และไว้รับประทานเอง

ข้าวแช่ หรือข้าวสงกรานต์ที่คนมอญเมืองไทยเรียกว่า “เปิงซังกราน” ส่วนมอญแท้ ๆ นิยมเรียก “เปิงด้าจก์”  ที่แปลตรงตัวว่า ข้าวน้ำ ข้าวแช่ไม่ได้เป็นอาหารในชีวิตประจำวัน แต่เป็นอาหารสำหรับพิธีกรรมของชาวมอญ เป็นหัวใจของประเพณีสงกรานต์ เพราะเชื่อกันว่าข้าวแช่เป็นอาหารวิเศษ สะอาด บริสุทธิ์กว่าอาหารอื่นใด ปรุงเพื่อบูชาเทวดา แสดงความกตัญญูรู้คุณต่อบรรพบุรุษ และสร้างบุญสร้างกุศล (องค์ บรรจุน, 2553: 75 ; ศิริศักดิ์ คุ้มรักษา, 2539: 40)

คมสรร จับจุ รองสภาวัฒนธรรมตำบลนครชุมน์ ท่านมีเชื้อสายมอญตั้งแต่กำเนิด ได้เล่าเรื่องการทำข้าวแช่ว่า ตัวเองโตมาก็ได้กินข้าวแช่แล้ว โดยสมัยก่อนคนมอญจะแบกกระบุงไปจ่ายตลาดเพื่อไปซื้อกับข้าวเตรียมมาทำข้าวแช่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ จะต่างกับปัจจุบันที่การเดินทางสะดวกมากขึ้น ซึ่งจะเรียกว่า “กราน” บางบ้านจะกราน 2 วัน บางบ้านก็จะกราน 3 วัน หมายถึงการเตรียมเครื่องเคียงเพื่อจะนำไปทำบุญ และเพื่อยกสำรับไปตั้งทำบุญตรงแท่งบวงสรวงหรือแท่นสังเวยเทวดาสงกรานต์ ซึ่งจะต้องมีทุกบ้านที่กราน บ้านไหนกรานก็จะตั้งศาลเพียงตา กางร่ม นุ่งผ้าขาว เสียบดอกไม้สีเหลือง หรือดอกคูน ส่วน พัชรินทร์ สมหอม, (2554: 124) ได้ให้ความหมายว่า ดอกไม้สีเหลืองที่คนมอญเรียกว่า “ปะกาวซังกราน” หรือดอกสงกรานต์  คำว่า “ปะกาว” แปลเป็นไทยว่า “ดอกไม้” ส่วนคำว่า “ซังกราน”  แปลว่า “สงกรานต์” เรียกรวมคำจึงแปลว่า “ดอกสงกรานต์” นั้นเอง จากนั้นปักธูปเทียนประดับ คนมอญที่นครชุมน์เป็นชุมชนใหญ่ มีวัดเป็นศูนย์รวมใจ ช่วงเช้าก่อนเวลา 9.00 น. ของวันสงกรานต์เด็ก ๆ และชาวบ้านจะแต่งกายสวยงามเพื่อนำสำรับข้าวแช่ไปทำบุญ โดยสมัยก่อนใช้กระทงใบตองเนื่องจากกลัวตกแตก ปัจจุบันได้เปลี่ยนภาชนะมาเป็นถ้วยชามที่สวยงาม นำไปทำบุญที่วัดใกล้บ้าน เช่น วัดใหญ่นครชุมน์ วัดม่วง วัดท่ามะขาม เป็นต้น ซึ่งมีความเชื่อว่าถ้าได้นำสำรับไปถวายจำนวนหลาย ๆ วัด ก็จะยิ่งได้บุญมาก  และบางคนอาจนำไปส่งญาติผู้ใหญ่ตามบ้าน เพราะอากาศร้อน ๆ เช่นนี้ ผู้คนส่วนใหญ่จะอยู่กันแต่ในบ้าน และจะกลับมารับประทานอาหารพร้อมกันที่บ้าน โดยไม่ได้รับประทานอาหารที่วัด

วิธีการทำข้าวแช่ เริ่มจากการหุงข้าว ด้วยการเลือกใช้ข้าวหอมมะลิเก่า เพราะข้าวใหม่จะมียางมากจะนิ่ม นำข้าวสารไปซาวน้ำหลาย ๆ ครั้ง เพื่อให้ยางข้าวหมด จากนั้นเตรียมหุงข้าว โดยใส่น้ำตั้งไฟ พอน้ำเดือด หมั่นดูข้าวเพื่อไม่ให้ข้าวแตกเม็ดเป็นข้าวต้ม ให้เม็ดข้าวสุกพอเป็นไต ๆ เมื่อข้าวสุกให้รีบยกจากเตา รินน้ำทิ้ง แล้วตักข้าวใส่กระบุงไม้ไผ่ตาถี่ ๆ เพื่อให้น้ำไหลออกไปได้ เพราะต้องตักน้ำราดลงบนเม็ดข้าว จากนั้นร่อนกระบุงเพื่อขัดเม็ดข้าว จนได้เม็ดข้าวสวยไม่แตก แล้วตั้งไว้ให้สะเด็ดน้ำ เทใส่หม้อดินเผา ส่วนน้ำที่จะรับประทานร่วมกับข้าวแช่นั้น ใช้น้ำสะอาดต้มสุก ลอยด้วยดอกไม้หอม เช่น ดอกมะลิ เป็นต้น สมัยก่อนใช้แกลบรมควันเพื่อให้มีกลิ่นหอม

สำหรับเครื่องข้าวแช่ กับข้าว หรือเครื่องเคียง ที่รับประทานกับข้าวแช่ ส่วนใหญ่รสชาติมักออกไปทางรสเค็ม ๆ หวาน ๆ ได้แก่
ปลาผัดหวาน หรือ ก๊ะเจีย ใช้ปลาช่อนทะเลแดดเดียวตำให้ละเอียดนำไปผัด ใส่หอมแดง ผัดจวนกรอบ จึงใส่น้ำตาลปี๊บ, หัวผักกาดผัดกะทิ หรือ ดั๊บร่าย นำผักกาดเค็มหรือหัวไชโป๊วหั่นฝอยมาผัดกับน้ำมัน เจียวหอมแดง เติมกะทิ น้ำตาลปี๊บ ผัดจนแห้งเหนียว, หมูผัดหวาน หรือ ซุนเจีย โดยหั่นหมูแดดเดียวเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วผัดในน้ำมันจนเหลืองใส่หอมแดงหั่นฝอย น้ำปลา กะทิ เติมน้ำตาลปี๊บ โรยใบมะกรูด, ยำมะม่วง หรือ อะว้อดเกริ๊ก ใช้มะม่วงสับ ใส่มะพร้าวคั่ว น้ำตาลปี๊บ หอมแดง พริกแห้ง เติมเครื่องปรุงทำให้รสชาติกลมกล่อม และยำขนุนอ่อน หรือ อะว้อดอะเนาะ เริ่มจาก ต้มลูกขนุนอ่อนให้สุก ใส่มะพร้าวคั่ว ตะไคร้ กระเทียม หอมแดง พริกแห้ง น้ำตาลปี๊บ น้ำปลาร้า โรยใบมะกรูด และ ลูกกะปิชุบไข่ทอด หรือ ฮะร็อคฮะแหม่งคะนา ปัจจุบัน ชาวบ้านในชุมชนนครชุมน์มีทำบ้างแต่น้อย เนื่องจากวัตถุดิบและการทำหลายขั้นตอน เครื่องปรุงมีกระชาย หอมแดง ตะไคร้ ปลาดุกย่าง กะปินำมาโขลกให้ละเอียด ตั้งกระทะ ใส่กะทิ ใส่เครื่องที่โขลกไว้ ปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บ ผัดจนแห้ง ตั้งให้เย็น นำมาปั้นเป็นก้อน กลม ๆ เล็ก ๆ นำไปชุบกับไข่ ทอดให้เหลืองกรอบ

สำหรับวิธีรับประทานเริ่มจากตักข้าวใส่ถ้วย ตักน้ำที่ลอยดอกมะลิลงในถ้วยพอประมาณ บางคนจะเติมน้ำแข็งด้วยเพื่อให้เย็นชื่นใจ ตามด้วยกับข้าว หรือเครื่องเคียงใส่ถ้วยตามต้องการ อาหารที่มีน้ำแถมยังหอมเย็นชื่นใจ ดับร้อน และเป็นการผ่อนคลายอารมณ์ 

สำหรับสงกรานต์ปี 2565 นี้ ทุกคนสามารถไปชิมข้าวแช่และอาหารชาวมอญแบบสงกรานต์นี้ได้ที่วัดใหญ่นครชุมน์ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โดยเริ่มงานตั้งแต่วันที่ 13-15 เมษายน และวันที่ 16 เมษายน มีการทำบุญใหญ่ยกพระเกศรัศมี พระประธานในโบสถ์ และมีการบังสุกุลทุกวัน 

แหล่งข้อมูล

คมสรร จับจุ (การสื่อสารส่วนบุคคล, 3 เมษายน 2565)
พัชรินทร์ สมหอม. (2554). ประเพณีปะลองเปิงด้าจ์ก (บุญส่งข้าวแช่) : ความหมาย บทบาท และปัจจัยการดำรงอยู่ในสังคมไทย. [วิทยานิพนธ์, มหาวิทยาลัยศิลปากร]. SURE.
http://www.sure.su.ac.th:8080/xmlui/handle/123456789/1697
ศิริศักดิ์ คุ้มรักษา. (2539). อิ่ม (บุญ) ข้าวแช่ ในวันสงกรานต์มอญที่บ้านม่วง. สารคดี, 12(135), 40-41.
หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์. (2564, เมษายน 10). เปิงซังกราน. [ภาพประกอบ] [อับเดตสถานะ]. Facebook.
https://www.facebook.com/suslibrary/photos/a.838110082942613/3970143703072553/
องค์ บรรจุน. (2553). ข้าวแช่ : ติดสินบนเทวดาขอให้ได้ลูก. ศิลปวัฒนธรรม, 31(11), 74-78.

Blockdit: https://www.blockdit.com/posts/6256b100911f7317264b0b63