เจ้าชายน้อย ที่ไม่น้อย

เริ่มจากชอบ สะสม นำไปสู่การให้ของ สุพจน์ โล่ห์คุณสมบัติ

หนังสือเรื่องเจ้าชายน้อย (Le Petit Prince) วรรณกรรมฝรั่งเศสที่ถูกจัดให้เป็นวรรณกรรมคลาสสิกสามารถอ่านได้ทุกเพศทุกวัย ผลงานเขียนโดย อ็องตวน เดอ แซ็ง-เต็กซูเปรี (Antoine de Saint-Exupéry) ตีพิมพ์ ครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2486 เป็นภาษาอังกฤษที่สหรัฐอเมริกา และอีกสามปีต่อมาจึงได้จัดพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศสที่ประเทศฝรั่งเศส เนื้อเรื่องของเจ้าชายน้อยกล่าวถึง มิตรภาพ ความรัก และวลีฮิตในเรื่อง

“สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นได้ด้วยตา ต้องเห็นด้วยใจเท่านั้น”

ความพิเศษอย่างหนึ่งของการอ่านเจ้าชายน้อยคือ เมื่ออ่านในแต่ละวัย หนังสือจะโตตามคนอ่าน การตีความในแต่ละช่วงวัยจะต่างกัน ตอนอายุ 20 อาจจะรู้สึกอย่างหนึ่ง พออายุเพิ่มขึ้นความรู้สึกเปลี่ยนไป “อ่านแล้วต้องเก็บมาคิดเพราะเจ้าชายน้อยเป็นหนังสือที่ตั้งคำถาม ให้เราได้ค้นหาคำตอบและคิดตาม ซึ่งจริง ๆ แล้วคำตอบก็อยู่รอบ ๆ ตัวเรานี่เอง” เช่น ตอนที่สุนัขจิ้งจอกบอกว่า สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นได้ด้วยตา ต้องเห็นด้วยใจเท่านั้น อ่านแล้วรู้สึกเป็นเรื่องจริง หลาย ๆ อย่าง หลาย ๆ ครั้งเวลาเจอคน แรกพบอาจจะเห็นเขาเป็นคนอย่างหนึ่ง เมื่อได้พูดคุยหรือคบเป็นเพื่อนไปแล้ว เขาอาจจะไม่ใช่อย่างที่คิดก็ได้

คุณสุพจน์ โล่ห์คุณสมบัติ (การสื่อสารส่วนบุคคล, 11 พฤษภาคม 2565) นักเขียนอิสระ คอลัมนิสต์ และเป็น อุปนายกสมาคมนักเรียนเก่าสวิสส์ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่เริ่มจากความชอบ สะสม และส่งต่อความสุขนี้ให้แก่เด็ก ๆ ตามโรงเรียนต่าง ๆ ได้รู้จักกับเจ้าชายน้อยฉบับภาษาถิ่นของตนเอง โดยได้ริเริ่มโครงการแปลเจ้าชายน้อยเป็นภาษาถิ่น ปี พ.ศ. 2559 แต่ก่อนที่จะมาถึงจุดนี้ คงต้องพูดถึงเสน่ห์ของเจ้าชายน้อยที่มีการแปลและตีพิมพ์หลายภาษา มีหลายคนตามหาเจ้าชายน้อยเพื่อนำมาเก็บสะสม เฉกเช่นเดียวกับชายคนนี้

จุดเริ่มต้นของการสะสม เมื่อไปพักที่หลวงพระบางและไปร้านหนังสือ ได้พบเจ้าชายน้อยฉบับภาษาลาว ซึ่งเป็นภาษาพูดที่มีเสน่ห์และยังเป็นภาษาต่างประเทศภาษาเดียวที่คนไทยฟังรู้เรื่องแบบไม่ต้องแปลมาก ยิ่งได้มาเห็นภาษาเขียนที่น่าสนใจและลองอ่าน รู้สึกว่าอ่านแล้วเข้าใจ จึงตั้งใจไว้ว่า ต่อไปนี้ถ้าเดินทางไปประเทศใดจะซื้อเจ้าชายน้อยของประเทศนั้น ๆ มาเก็บสะสมไว้เหมือนเป็นการบันทึกการเดินทางไปด้วย

ด้วยความโชคดีพอมาทำคอลัมนิสต์ของนิตยสารหนังสือเดินทาง ทำให้มีโอกาสได้เดินทางไปประเทศต่าง ๆ จนกระทั่งมีสโลแกนว่า “เรื่องงาน เรื่องเที่ยว เรื่องเดียวกัน” เวลาที่เดินทางไปเมืองใดก็ตาม จึงต้องแวะเข้าไปร้านหนังสือทุกครั้งเพื่อตามหาเจ้าชายน้อย ถือเป็นภารกิจอย่างหนึ่งที่สนุกสนาน เพลิดเพลิน จากที่เดินทางและสะสม กลายเป็นเสาะแสวงหาเริ่มค้นหาจากอินเทอร์เน็ต พบว่า นักสะสมต่างพากันเข้ามาในกลุ่มเจ้าชายน้อย เป็นสังคมเล็ก ๆ ที่ช่วยกัน แลกเปลี่ยนกัน บางคนไม่เคยรู้จักกันมาก่อนก็มาเป็นเพื่อนกันโดยมี      เจ้าชายน้อยเป็นสื่อเชื่อมความสัมพันธ์

ตอนที่เริ่มสะสมด้วยความสนุก ชอบ รัก แต่ในใจลึก ๆ มีความคิดเสมอว่าสักวันการสะสมเหล่านี้จะต้องมีประโยชน์ ไม่ใช่เพียงเพื่อการสะสมอย่างเดียว จนกระทั่งปี พ.ศ. 2559 สมาคมนักเรียนเก่าสวิสส์ในพระ-อุปถัมภ์ฯ ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น ได้จัดงานฉลอง 70 ปีครองราชย์ในหลวงรัชกาลที่ 9     ที่เมืองโลซาน ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เมืองที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ประทับอยู่ถึง 18 ปี ตอนนั้นผมเดินทางไปในฐานะอุปนายก มีโอกาสได้พบปะพูดคุย คุณฌ็อง-มาร์ก พร็อบสต์ (Jean-Marc Probst) ผู้ก่อตั้งมูลนิธิฌ็อง-มาร์ก พร็อบสต์เพื่อเจ้าชายน้อย (Fondation Jean-Marc Probst pour le Petit Prince) เขาพาไปชมคอลเลกชันหนังสือเจ้าชายน้อยที่บ้าน ซึ่งเป็นห้องสมุด มี 6,000 กว่าเล่ม และยังเล่าให้ฟังว่าที่ตั้งมูลนิธินี้ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการแปลหนังสือเจ้าชายน้อยให้เป็นภาษาต่าง ๆ ทั่วโลก จึงเสนอไปว่า ประเทศไทยมีวัฒนธรรมที่หลากหลายและยังมีภาษาถิ่นที่น่าสนใจหลายภาษา คุณฌ็อง-มาร์กเห็นด้วยและสนับสนุน เมื่อกลับถึงไทยจึงพูดคุยกับเพื่อน 2-3 คน และตกลงกันว่าจะเริ่มแปลเจ้าชายน้อยเป็นภาษาถิ่น โดยหาผู้ที่เหมาะสมในการแปลหรือปริวรรตสำหรับภาษานั้น ๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นผู้เชี่ยวชาญทางภาษาแล้วยังมองไปถึงผู้ที่มีคุณประโยชน์กับสังคมกับพื้นถิ่นนั้น ๆ ด้วย ความยากง่ายอยู่ที่การหาผู้ที่จะมาแปลภาษาถิ่น ซึ่งค่อนข้างใช้เวลามากพอสมควรในการนั่งพูดคุยกับคณะทำงานว่าจะเลือกใคร ซึ่งส่วนใหญ่ได้คนที่เหมาะสม รู้สึกภูมิใจและขอบคุณทุกท่านที่ช่วยเหลือกันในโครงการนี้

เจ้าชายน้อยภาษาถิ่นไทย

ปัจจุบันมีเจ้าชายน้อยภาษาถิ่นไทยที่จัดพิมพ์ 4 ภาษาด้วยกัน ดังต่อไปนี้

ภาษาแรกคือ ภาษาล้านนา ด้วยความที่มีเพื่อน ๆ ที่ร่วมโครงการอยู่ที่เชียงใหม่ อีกทั้งภาษาล้านนามีอัตลักษณ์ที่ชัดเจนทั้งตัวเขียนและภาษา ปัจจุบันไม่ค่อยมีคนใช้แล้ว ภาษาเขียนเรียกว่าตัวธรรมล้านนา เรามักจะเห็น  ตัวธรรมในหนังสือใบลาน หนังสือธรรมะตามวัด จึงเลือกภาษาล้านนาเป็นภาษาเริ่มต้นในการแปล ซึ่งได้  อาจารย์วิลักษณ์ ศรีป่าซาง อาจารย์ดิเรก อินจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญภาษาล้านนา มาเป็นผู้ปริวรรต ซึ่งการปริวรรต (Transliteration) เป็นการถ่ายถอดหรือเปลี่ยนรูปอักษรและอักขรวิธีแบบหนึ่งมาเป็นตัวอักษรและอักขรวิธีของอักษรอีกชนิดหนึ่งอย่างมีหลักเกณฑ์ (กรรณิการ์ วิมลเกษม, 2548)

ภาษาที่สอง ยังคงอยู่ที่ภาคเหนือ มีโรงเรียนชนเผ่าอยู่มากโดยเฉพาะชาวปกาเกอะญอ และยังคงมีการใช้ภาษาพื้นถิ่นในการสื่อสารกันอยู่ในชีวิตประจำวัน โดยได้พ่อหลวงจอนิ โอโดเชาอายุเกือบ 90 ปีแล้ว พ่อหลวงเป็นผู้นำทางด้านจิตวิญญาณ ได้ใช้ช่วงเวลากลางคืนหลังจากการทำไร่นามาทำงานแปลเล่มนี้ โดยมีลูกชายเป็นผู้ช่วยอ่านจากต้นฉบับภาษาไทย จากนั้นพ่อหลวงจะพูดออกมาเป็นภาษาปกาเกอะญอ ลูกชายก็จะเขียนสิ่งที่พ่อหลวงจอนิพูดลงในกระดาษ เมื่อได้ครบในแต่ละบท ต้นฉบับจะถูกส่งจากอำเภอแม่วาง ลงมาพิมพ์ในเชียงใหม่ ขั้นตอนสุดท้าย อาจารย์ชิ – ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ อาจารย์ชาวปะกาเกอะญอ ผู้รับอาสาเป็นบรรณาธิการ จะเป็นผู้ตรวจแก้ไขอีกครั้ง

ภาษาที่สาม คือ ภาษายาวี ที่ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ใช้อยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ เป็นภาษาที่ผมได้ยินมาตั้งแต่เป็นนักศึกษา เพราะเรียนจบจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีสำเนียงการพูดที่ได้ยินติดหูมากถึงแม้จะไม่เข้าใจก็ตาม แต่ก็ได้ยินบ่อย เพราะมีเพื่อนเป็นมุสลิมจำนวนมาก จึงเป็นภาษาที่สามในการแปล ซึ่งได้รับความร่วมมือจากคณาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในการปริวรรตและจัดทำรูปเล่ม

 ภาษาที่สี่ ตอนนี้ เจ้าชายน้อยได้เดินทางมาที่อีสาน ซึ่งมีภาษาถิ่นที่น่าสนใจ นั่นคือ ภาษาเขมรถิ่นไทย หรือที่เรียกว่าเขมรสุรินทร์ ได้คุณอัษฎางค์ ชมดี และ ดร.ดิเรก หงษ์ทอง ร่วมกันแปล ภาษาเขมรถิ่นไทยนี้ไม่ได้มีอักษรภาษาเขียนเหมือนกับ 3 ภาษาแรก เราแปลภาษาเขมรโดยใช้อักษรไทยที่ได้รับการรับรองจาก         ราชบัณฑิตยสภาและพิมพ์เป็นคู่มือระบบการเขียนเขมรถิ่นไทย อักษรไทย ในปี พ.ศ. 2556 เล่มล่าสุดนี้กำลังจะเปิดตัวในวันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคมนี้ ที่บริเวณสนามหญ้าหน้าปราสาทศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์

“ผมประทับใจในทุกเล่มที่ได้ลงมือทำ ตั้งแต่ต้นตลอดทุกขั้นตอน ทุกคนทำให้ด้วยหัวใจ และศักยภาพของตัวเองที่มีและส่งต่อ เผื่อแผ่ไปให้ผู้อื่น ซึ่งเจ้าชายน้อยก็พูดถึงเรื่องนี้ เรื่องการดูแลมิตรภาพและความรัก ให้เกิดความงอกงาม เช่นเดียวกับการทำงานของโครงการเรา”

สุพจน์ โล่ห์คุณสมบัติ, 2022

การให้กลับสู่ชุมชน

โดยปกติของการสะสม ผมรู้สึกดีใจที่ได้หนังสือมาเพิ่มในคอลเลกชัน “เหนือสิ่งอื่นใดการสะสมครั้งนี้  มิใช่ได้มาอย่างเดียว แต่เป็นการให้กลับไปสู่ชุมชน กลุ่มชาติพันธุ์ และเด็ก ๆ ในภูมิภาคต่าง ๆ ด้วย” ตัวเล่มที่เสร็จแล้วนำไปมอบให้กับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ โรงเรียน มหาวิทยาลัย และผู้ที่สนใจที่เรียนอยู่ จัดส่งให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ แม้ว่าในตอนแรกที่ทำ มีหลายคนที่ไม่เห็นด้วยว่าใครจะมาอ่านภาษาถิ่นเหล่านี้ อ่านภาษาไทยง่ายกว่าไม่ต้องมานั่งดูคำอะไรด้วย ซึ่งโดยส่วนตัว ได้มองข้ามจุดนั้นไปแล้ว  สิ่งที่ต้องการคือ ทำแล้วเป็นประโยชน์ อย่างเช่น หากเจ้าชายน้อย ภาษาล้านนาจะช่วยจุดประกายให้เด็กสักคนหันมาสนใจเรียนภาษาถิ่นของตัวเองอย่างจริงจัง หรือได้หันมาอ่านวรรณกรรมดี ๆ สักเล่ม แค่นี้ก็ถือว่าโครงการของเราประสบความสำเร็จแล้ว นอกจากจะพิมพ์แจกแล้ว ยังแบ่งหนังสือส่วนหนึ่งมาวางจำหน่ายสำหรับนักสะสมเจ้าชายน้อย โดยเงินที่ได้ทั้งหมดจะนำไปจัดกิจกรรมการเปิดตัวหนังสือ หากเล่มไหนขายดีหน่อย ก็จะนำเงินที่เหลือไปมอบเป็นทุนการศึกษาตามโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในชุมชนนั้น ที่ผ่านมาได้นำทุนบางส่วนไปบริจาคให้กับศูนย์มะเร็งในเด็กที่จังหวัดนครศรีธรรมราช นำไปบริจาคช่วยน้ำท่วมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในนามโครงการเจ้าชายน้อยภาษาถิ่นอีกด้วย

หนังสือชุดนี้กำลังเดินทาง เราได้เห็นความตั้งใจที่จะส่งต่อความสุขให้คนไทยของคุณสุพจน์ที่มีต่อเจ้าชายน้อยในทุกภูมิภาค ให้คนในชุมชนได้มีโอกาสเข้าถึงและทำความรู้จักกับเจ้าชายน้อยในภาษาถิ่นของตนที่เกือบเลือนหายไปตามกาลเวลา ระหว่างทางของเจ้าชายน้อยยังคงไว้ซึ่งความสุขและความงดงามเสมอ

แหล่งข้อมูล

กรรณิการ์ วิมลเกษม. (2548). หลักการปริวรรตอักษรโบราณที่พัฒนามาจากอักษรของอินเดีย. วารสารดำรงวิชาการ, 4(2), 120-135.
พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ. (2564, มีนาคม 8). นิทรรศการ “เจ้าชายน้อย : หนังสือ การสะสมและการสนทนาข้ามวัฒนธรรม” [ข่าวประชาสัมพันธ์]. https://museum.socanth.tu.ac.th/general/นิทรรศการ-“-เจ้าชายน้อย-หนังสือ-การสะสมและการสนทนาข้ามวัฒนธรรม”-2/
สุพจน์ โล่ห์คุณสมบัติ. (การสื่อสารส่วนบุคคล, 11 พฤษภาคม 2565)

Blockdit: https://www.blockdit.com/posts/632c4f1a4fd78874e910585a