อาจารย์ฝรั่งในความทรงจำ

ย้อนรอยเรื่องราวความผูกพันของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่มีต่อลูกศิษย์

“Ars longa vita brevis” หรือ “ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น” กลายมาเป็นประโยคทองที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี มักหยิบยกมาสอนลูกศิษย์อยู่เสมอ จนกลายเป็นประโยคคุ้นหูของเด็กมหาวิทยาลัยศิลปากรหลายต่อหลายรุ่น เพื่อให้ตะหนักถึงชีวิตอันแสนสั้นของคนเราแต่การศึกษาไม่มีวันจบสิ้น

วันที่ 15 กันยายน ของทุกปีกำหนดให้เป็น “วันศิลป์ พีระศรี” วันที่ชาวศิลปากรได้มีโอกาสร่วมรำลึกถึงศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยทางด้านศิลปะแห่งแรกของประเทศไทย มุ่งมั่นพัฒนาศิลปินและองค์ความรู้สร้างสรรค์ด้านศิลปะ ท่านมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ศิลปะ ทุ่มเทกายและใจเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้นักศึกษาอย่างเต็มกำลังด้วยความเมตตา อีกทั้งปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่นักศึกษาทุกคน

ช่วงเดือนกันยายนของทุกปี มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ จะมีภาพ “อาจารย์ศิลป์” กระจายอยู่โดยรอบ บรรดาลูกศิษย์มากหน้าหลายตา ต่างกลับมาเยี่ยมเยียนมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งทำให้บรรยากาศภายในมหาวิทยาลัยครึกครื้น อบอวลไปด้วยความทรงจำที่เคยศึกษาอยู่ ณ วังท่าพระแห่งนี้ 

ถึงแม้ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้จากเราไปแล้ว แต่บรรดาลูกศิษย์ถือว่าท่านเป็นศูนย์กลางให้มารวมตัวกัน ยังคงจัดงานวันเกิดให้ท่านทุกปีด้วยความอาลัยรัก ต่างวางดอกไม้พร้อมด้วยจุดเทียนเพื่อรำลึกถึงท่าน โดยถือว่าวันนี้เป็นวันพบปะสังสรรค์ระหว่างศิษย์เก่ากับศิษย์ปัจจุบัน

ก่อนจะเป็น ศิลป์ พีระศรี นามเดิม คอร์ราโด เฟโรจี (Corrado Feroci) เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2435 นครฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เข้ามารับราชการในประเทศไทยเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2466 แผนกช่าง กองประณีตศิลป์ กรมศิลปากร ระยะ 3 ปีแรก ท่านได้พิสูจน์อัจฉริยภาพทางด้านงานปั้นให้เป็นที่ประจักษ์ด้วยการปั้นรูปเหมือน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์1 จนได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ออกแบบและปั้นอนุสาวรีย์ที่สำคัญเรื่อยมา พร้อมทั้งเปิดสอนวิชาประติมากรรมให้แก่ข้าราชการ และบุคคลทั่วไป ซึ่งท่านได้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ช่างปั้นหล่อ แผนกศิลปากรสถาน แห่งราชบัณฑิตสภาน

ในปี พ.ศ. 2487 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรจี ตัดสินใจเปลี่ยนสัญชาติเป็นไทยตามคำแนะนำของหลวงวิจิตรวาทการ2 และเปลี่ยนชื่อเป็น “ศิลป์ พีระศรี” ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นเชลยศึก และเพื่อความสะดวกในการดำรงชีวิตในฐานะเป็นคนไทย

“แต่ในความรู้สึกโดยแท้จริงของท่านแล้ว ท่านมักจะกล่าวเสมอว่า ท่านไม่ยึดติดในเชื้อชาติ หรือศาสนาใด ท่านรักและเทิดทูนศิลปะเหนือสิ่งอื่นทั้งหมด และศาสนาท่านคือ ศิลปะ

นิพนธ์ ขำวิไล, บรรณาธิการ, 2551, น. 648

กำเนิดมหาวิทยาลัยศิลปากร

เริ่มต้นด้วยโรงเรียนประณีตศิลปกรรม โดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ดูแลและอาจารย์สอนวิชาประติมากรรมให้แก่ข้าราชการ และนักเรียนโดยไม่เก็บค่าเล่าเรียน ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนศิลปากร”

เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ได้เดินทางมาชมผลงานศิลปกรรมของนักเรียนโรงเรียนศิลปากร จึงได้ตระหนักถึงความสำคัญและความก้าวหน้าของงานศิลปะที่ควรจะเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ พร้อมให้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรและตราพระราชบัญญัติสถาปนา “มหาวิทยาลัยศิลปากร” เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2486

นักศึกษาคณะจิตกรรม รุ่น 1 รับอนุปริญญาบัตร จากพระอนุมานราชธน ผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยศิลปากร
ถ่ายภาพร่วมกับคณาจารย์หน้าตึกศิลปกร ภาพจาก อาจารย์อํามฤทธิ์ ชูสุวรรณ

อาจารย์ฝรั่ง

ในสมัยนั้นศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นฝรั่ง3คนเดียวในมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อพูดถึงอาจารย์ฝรั่ง ทุกคนเข้าใจตรงกันว่าหมายถึงท่าน ทั้งนี้ลูกศิษย์จะมีชื่อเรียกท่านหลายชื่อด้วยกันทั้งอาจารย์ศิลป์, โปรเฟสเซอร์ หรือ อาจารย์เฟโรจี

ช่วงระยะแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากร ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ดำเนินการสอนหลัก ซึ่งเน้นให้นักศึกษาเรียนรู้วิชาพื้นฐานเกี่ยวกับศิลปะให้รอบรู้ครบทุกด้าน รวมทั้งสอนพื้นฐานความเข้าใจในวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะให้แก่นักศึกษาเพื่อใช้เป็นองค์ความรู้เพื่อต่อยอดการสร้างสรรค์งานศิลปะ

ช่วงระยะแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากร ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ดำเนินการสอนหลัก ซึ่งเน้นให้นักศึกษาเรียนรู้วิชาพื้นฐานเกี่ยวกับศิลปะให้รอบรู้ครบทุกด้าน รวมทั้งสอนพื้นฐานความเข้าใจในวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะให้แก่นักศึกษาเพื่อใช้เป็นองค์ความรู้เพื่อต่อยอดการสร้างสรรค์งานศิลปะ

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี นำนักศึกษาไปทัศนศึกษาโบราณสถานและวัดสำคัญ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ภาพจาก อาจารย์อํามฤทธิ์ ชูสุวรรณ

“ความรู้ในด้านมนุษยศาสตร์อื่น ๆ ช่วยให้ท่านเป็นนักคิดและนักวิจารณ์ที่ดี เป็นครูที่ดี การสอนศิลปของท่านจึงไม่แคบแต่ในเรื่องเทคนิค ท่านมักจะพูดว่าอย่าใช้ตีนใช้มือเท่านั้นให้ใช้หัวด้วย และที่สำคัญที่สุดท่านไม่ได้เป็นเพียงแค่นักทฤษฎีแต่ยังเป็นนักปฏิบัติด้วย เหตุนี้ท่านจึงเป็นศูนย์กลางที่ยึดถือได้ของทุกคน บรรดาอาจารย์และศิษย์ ทุกคนรักและกลัวเกรง จะทำอะไรที่ไม่ดีก็กลัวท่านไม่พอใจและเสียใจ”

ดำรง วงศ์อุปราช, 2521, น. 27

เนื่องด้วยท่านมีความเป็นกันเองกับนักศึกษา มักจะแทนตัวเองว่า “ฉัน” และเรียกนักศึกษาว่า “นาย” ทำให้รู้สึกใกล้ชิดผูกพันกับท่านมากขึ้น ทั้งมีความห่วงใยและปรารถนาดี คอยช่วยเหลือลูกศิษย์ที่มีปัญหาอยู่เสมอ ๆ จนเป็นที่นับถือทั้งในหมู่ศิษย์และอาจารย์ด้วยกัน

ลูกศิษย์โรงเรียนศิลปากร จัดงานวันเกิดให้ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นครั้งแรก
ภาพจาก หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยศิลปากร

“วันสำคัญที่ลูกศิษย์และอาจารย์คอยก็คือวันเกิดของท่าน ซึ่งในวันนั้นในตอนเย็นจะเห็นมีโต๊ะตั้งอยู่ บนโต๊ะมีขนม ผลไม้วางเต็มไปหมด ท่านจัดเลี้ยงศิษย์และมิตรสหายเสียเอง วันนั้นท่านจะมีความสุขมาก ขอให้ท่านร้องเพลง Serenade ของ Toselli ท่านก็อาจจะร้อง ท่านทำตัวใกล้ชิดกับอาจารย์และนักศึกษาเหมือนพ่อกับลูก เมื่อเลิกงานที่มหาวิทยาลัยแล้ว ถ้ายังสนุกอยู่อาจจะตามท่านไปบ้านอีกก็ได้”

ดำรง วงศ์อุปราช, 2521, น. 38
ลูกศิษย์ไปจัดงานวันเกิดให้ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี โดยไม่รู้ตัว ที่บ้านถนนประดิพัทธ์ สะพานควาย
ภาพจาก อาจารย์อํามฤทธิ์ ชูสุวรรณ

“พวกเธอต้องเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ก่อนแล้วจึงเรียนศิลปะ”

อีกหนึ่งประโยคของอาจารย์ฝรั่งที่เตือนสติให้กับเหล่าบรรดาลูกศิษย์มาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งประโยคเตือนใจของท่านเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ มีทั้งเตือน บังคับ ขอร้อง เปรียบเปรย หรือปรัชญาแฝงให้ลูกศิษย์ได้กลับไปคิดทบทวน ทั้งหมดล้วนเต็มไปด้วยความรัก ความเมตตาต่อลูกศิษย์ และเรื่องนี้อาจเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ท่านได้กลายเป็นที่รักของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นลูกศิษย์หรืออาจารย์ด้วยกัน

และนี่คือ 7 ประโยคบทสนทนาเด็ดของอาจารย์ฝรั่งจากความทรงจำของลูกศิษย์ศิลปากรรุ่นแรก ๆ ที่เคยได้มีโอกาสศึกษาหรือสัมผัสกับท่านอย่างใกล้ชิด มาร่วมแบ่งปันแง่มุมความประทับใจต่าง ๆ บทสนทนานี้หยิบยกมาจากหนังสือ “อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์” โดยลูกศิษย์เหล่านั้นกลายมาเป็นศิลปินชั้นเยี่ยม บุคคลที่สร้างคุณประโยชน์แก่วงการศิลปะไทย

วันแรกที่นักเรียนศิลปะเข้าเรียนที่ศิลปากรในสมัยที่อาจารย์ศิลป์ยังมีชีวิตอยู่ คงจำคำพูดของท่านได้ทุกคน
“พวกเธอต้องเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ก่อนแล้วจึงเรียนศิลปะ”
ท่านไม่ได้อธิบายความเป็นมนุษย์คืออย่างไร แต่พวกเราได้เรียนรู้ความเป็นมนุษย์จากวิถีชีวิตของท่าน

อนันต์ ปาณินท์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2562

“ศิลปะเป็นของสนุก ฉันเองไม่ค่อยมีเวลามากนัก เพราะฉันต้องทำการงานต่าง ๆ เตรียมการสอน งานราชการ ฉันไม่มีเวลา ฉันทำงานไม่มีวันหยุด ทั้งเสาร์ อาทิตย์ ไม่มีเวลาพักผ่อนเลย”

สนิท ดิษฐพันธุ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2532

ถ้าเป็นที่อื่นข้าพเจ้าคงเรียนไม่จบ เพราะเป็นโน่นเป็นนี่อยู่ตลอดเวลาน่ารำคาญตัวเอง แต่อาจารย์ท่านให้กำลังใจอยู่เสมอ บอกว่าในร่างกายคนอ่อนแอ ต้องมีกำลังใจที่แข็งแกร่ง เพื่อเป็นการชดเชยตามธรรมชาติ อาจารย์มักจะบอกว่า “การทำงานที่เรารัก บางทีก็เป็นยารักษาโรคได้”

ลาวัณย์ อุปอินทร์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2559
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ไปเยี่ยมลูกศิษย์ที่ไปวาดภาพนอกสถานที่ จังหวัดชลบุรี
ภาพจาก อาจารย์อํามฤทธิ์ ชูสุวรรณ

อาจารย์จะเตือนบ่อย ๆ ว่า
“นายจะไปไหน ให้เอากระดาษหรือสมุดดินสอไปด้วย พร้อมที่จะสเก็ตช์ หรือสตั๊ดดี้ได้ทันที”

อังคาร กัลยาณพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ

มีอยู่ครั้งหนึ่งอาจารย์ให้ทำ Composition ขนาดเล็ก ให้ Subject เรื่อง “เวลา”
อาจารย์ถามว่า มีใครไม่เข้าใจบ้าง ทุกคนเงียบเพราะคิดว่าเข้าใจ ท่านจึงย้อนถามมาว่า
“เวลาคืออะไรนาย” เราตอบด้วยการยกนาฬิกาข้อมือให้ดู ท่านบอกว่า
“นั่นนาฬิกา ไม่ใช่เวลานาย…”
“เวลาคือการกระทำ เวลานายไม่ทำอะไร นายเรียกว่าฆ่าเวลา”
อาจารย์สอนให้พวกเรารู้จักคิด รู้จักทำ และให้รู้ค่าของการฝึกฝนที่พวกเรามาเรียนเพื่อให้รู้
และต้องเรียนได้ด้วยแนวคิด มิใช่ความจำเพียงอย่างเดียว

บัณฑิต ผดุงวิเชียร จิตรกร, อาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร

ท่านเป็นคนดี มีเสน่ห์ในตัวสูงมาก
ท่านเกิดมาเพื่อการสร้างงาน สร้างงานศิลปกรรม โดยถือคติที่ท่านให้ไว้ว่า
“ชีวิตสั้น ศิลปะยืนยาว”

ไพโรจน์ สโมสร จิตรกร, นักวิชาการ, อาจารย์มหาวิทยาลัย

“พรุ่งนี้ก็ช้าเสียแล้ว” …ไม่ใช่เป็นเพียงคำตักเตือนให้เรารู้จักคุณค่าของศิลปวัตถุ รักและหวงแหนศิลปวัตถุของเรา แต่เป็นคำเตือนใจกลาง ๆ ไม่ให้ประมาท… น่าจะเป็นคำสอนคำสุดท้าย ก่อนที่ท่านจะจากเราไปเป็นคำเตือนใจให้นักศึกษาศิลปะทั้งหลายไม่ประมาท ไม่ทอดทิ้งกาลเวลาอันมีค่า…
“พรุ่งนี้ก็ช้าเสียแล้ว” นักศึกษาต้องทำตนเป็นผู้ตื่นไม่ใช่หลับ

เฟื้อ หริพิทักษ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2528

แม้วันนี้อาจารย์ฝรั่งได้จากเราไปแล้ว แต่คุณงามความดีและวิชาความรู้ที่ท่านวางรากฐานเอาไว้อย่างเข้มแข็ง ส่งต่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ จนเกิดเป็นเมล็ดพันธุ์ทางศิลปะที่ท่านบ่มเพาะได้เติบโตเจริญงอกงาม แผ่กิ่งก้านสาขาเป็นต้นไม้ทางศิลปะขนาดใหญ่สร้างคุณประโยชน์ให้แก่สังคมมากมาย

คำสอนเตือนใจที่อาจารย์ฝรั่งได้ฝากไว้ ยังคงย้ำเตือนในความทรงจำของศิษย์ทุกคนอยู่ตลอดเวลา หากได้แต่ฟังคำสอนเหล่านั้นแล้วไม่นำมาปฏิบัติก็คงเสียเปล่า หนทางที่ดีที่สุดคือลงมือทำและจะไม่มีคำว่า “พรุ่งนี้ก็ช้าเสียแล้ว”

ขอขอบคุณภาพศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี จาก อาจารย์อํามฤทธิ์ ชูสุวรรณ
และหอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยศิลปากร facebook.com/SilpakornUniversity.Archives

หมายเหตุ
1 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทย
2 หลวงวิจิตรวาทการ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย
3 ฝรั่ง หมายถึง คำที่คนไทยใช้เรียกชนชาติตะวันตก

เอกสารอ้างอิง

ดำรง วงศ์อุปราช. (2521). ศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี. กรุงเทพฯ : ปาณยา.
นิพนธ์ ขำวิไล. (บรรณาธิการ). (2551). อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์ (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ : สำนักวิจัยศิลป์ พีระศรี.
บทความ ข้อเขียน และงานศิลปกรรมของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี. (2545). กรุงเทพฯ : หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป พีระศรี อนุสรณ์ (2558). เข้าถึงได้จาก http://www.virtualmuseum.finearts.go.th/silpabhirasri/index.php/en/about-us.html
วิจิตร อภิชาตเกรียงไกร. (บรรณาธิการ). (2565). อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์ (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ : สำนักวิจัยศิลป์ พีระศรี.

Blockdit: https://www.blockdit.com/posts/6342ca32bd8af45f91bb4b5f